การศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนหัตถกรรมพื้นบ้านผ้าทอมัดหมี่ไปเป็นธุรกิจแบบกึ่งอุตสาหกรรม
หัวข้องานวิจัย: การศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนหัตถกรรมพื้นบ้านผ้าทอมัดหมี่ไปเป็นธุรกิจแบบกึ่งอุตสาหกรรม
ชื่อผู้เขียน: นายกำพล เสรีวัฒนารัตน์
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนหัตถกรรมพื้นบ้านผ้าทอมัดหมี่ไปเป็นธุรกิจแบบกึ่งอุตสาหกรรมโดยใช้กลุ่มหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมืองตำบล โคกแสมสาร อำเภอโคกเจริญ และกลุ่มหัตถกรรม ตำบลบ้านหมี่ อำเภอบ้านหมี่ จากการวิเคราะห์ถึงแนวการปรับเปลี่ยนและศึกษาความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ ของทั้งสองกลุ่มหัตถกรรมทอผ้ามัดหมี่ที่ทำการศึกษาสามารถสรุปผลได้ดังนี้ คือ
ด้านการตลาด เป็นการวางแผนการปรับเปลี่ยนโดยการวางกลยุทธ์ทางการตลาดโดยมีทฤษฎีและหลักวิชาการประกอบในการกำหนดกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาดของสินค้าหัตถกรรมผ้าทอมัดหมี่ให้กับทั้งสองกลุ่ม และเป็นการเพิ่มยอดจำหน่ายของผ้าทอมัดหมี่ซึ่งจะมีปริมาณมากขึ้นจากการปรับเปลี่ยนทางด้านเทคนิคในบางส่วนของกระบวนการผลิตเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการผลิตผ้าทอมัดหมี่มากขึ้น โดยเน้นที่ผ้ามัดหมี่พื้น ซึ่งจากการสอบถามจากผู้นำกลุ่มทั้งสองกลุ่มแล้วพบว่าเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นแต่มีกำลังการผลิตต่ำ
ด้านเทคนิค เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในบางขั้นตอนที่เกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบันคือ ขั้นตอนการเตรียมเส้นด้ายยืน โดยการศึกษากระบวนการจากอุตสาหกรรมผ้าทอและได้แนวคิดในการนำเครื่องจักรในการสืบด้ายที่ใช้ในดรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าซึ่งมีลักษณะการทำงานเหมือนกับการเตรียมเส้นด้ายยืนด้วยมือที่ชาวบ้านทำอยู่ในปัจจุบันมาใช้ในการเตรียมเส้นด้ายยืนแทน ซึ่งส่งผลให้มีกำลังการผลิตที่ดีขึ้นเนื่องจากลดปัญหาในการกรอการเตรียมเส้นด้ายยืนของช่างทอผ้า และยังเป็นการพิ่มคุณภาพให้กับการผลิตด้วย เนื่องจากเส้นด้ายยืนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผ้าทอที่ผลิตมานั้นมีคุณภาพที่ดีหรือไม่ดี ส่วนขั้นตอนต่อไปที่มีการปรับเปลี่ยนคือการนำเครื่องกรอด้ายที่ใช้ในโรงงานปั่นด้ายมาใช้แทนอุปกรณ์ปั่นด้ายของชาวบ้าน จะช่วยลดเวลาในการเตรียมเส้นด้ายพุ่งสำหรับการทอผ้ามัดหมี่พื้น การปรับเปลี่ยนทางด้านเทคนิคการผลิตทั้งสองส่วนนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตโดยการลดเวลาในการผลิตให้น้อยลงทำให้กลุ่มหัตถกรรมทอผ้าทั้งสองกลุ่มมีกำลังการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิตผ้าทอมัดหมี่พื้น นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนในส่วนของกระบวนการออกแบบลวดลายของผ้าทอมัดหมี่ ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี ระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบและเก็บรวบรวมข้อมูลการออกแบบไว้เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้เพื่อสืบทอดต่อไปให้กับรุ่นต่อๆไปได้ โดยการปรับเปลี่ยนในส่วนนี้จะช่วยลดความผิดพลาดในการผลิตผ้าทอในกรณีที่มีการออกแบบลวดลายใหม่ๆ ไม่ต้องเสียทรัพยากรในการลองผิดลองถูกในการออกแบบลวดลายใหม่ๆ
ด้านการเงิน จากข้อมูลและผลการวิเคราะห์ทางด้านการเงินสรุปผลได้ว่าการลงทุนในการปรับเปลี่ยนสำหรับกลุ่มหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมืองตำบลโคกแสมสารนั้นในระยะ 5 ปีนั้นจะเห็นว่าผลกำไรที่ได้จากจำหน่ายผ้าทอที่มีปริมาณการผลิตที่มากขึ้นนั้นส่งผลให้กลุ่มมีกำไรในการดำเนินการที่สูงขึ้น แต่เมื่อนำมาคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิแล้วพบว่าการดำเนินการแบบเดิมให้มูลค่าในปัจจุบันที่สุงกว่า แต่เมื่อลองประมาณการงบการเงินเป็นระยะเวลา 10 ปีพบว่าผลกำไรที่ได้จากการดำเนินการในรูปแบบใหม่ที่มีการปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจกึ่งอุตสาหกรรมนั้นให้ผลกำไรที่มากกว่าทั้งในด้านผลกำไรที่ได้และมูลค่าปัจจุบัน ส่วนกลุ่มหัตถกรรมทอผ้ามัดหมี่ตำบลบ้านหมี่นั้นจากข้อมูลและผลการวิเคราะห์ทางด้านการเงินสรุปได้ว่าการลงทุนในการปรับเปลี่ยนนั้นทำให้กลุ่มมีผลกำไรจากการดำเนินการที่มากขึ้น แต่เป็นผลมาจากการจำหน่ายที่มากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าปัจจุบันสุทธิแล้วพบว่ามีมูลค่าปัจจุบันน้อยกว่ามูลค่าปัจจุบันของการดำเนินการในรูปแบบปัจจุบัน ทั้งในการประมาณงบการเงินด้วยระยะเวลา 5 ปี และระยะเวลา 10 ปี จึงพอสรุปได้ว่าการลงทุนในการปรับเปลี่ยนนั้นจะเหมาะสมกับกลุ่มหัตถกรรมทอผ้าที่มีจำนวนสมาชิกมากพอสมควรโดยเฉพาะผ้าทอพื้น เพื่อให้เกิดกำลังการผลิตที่มาก (Economy of scale) พอเนื่องจากปริมาณการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญที่แปรผันตรงกับผลกำไรที่มากขึ้น(ในเงื่อนไขทางการตลาดที่ยังคงมีความต้องการซื้อที่สูงทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ) ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนนั้นมีความคุ้มค่าทั้งในด้านผลกำไรและมูลค่าปัจจุบันสุทธิ
ใส่ความเห็น
Comments 0