การดำเนินงานของผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 3-5 ดาว ประเภทอาหาร ของจังหวัดชลบุรี
หัวข้องานวิจัย: การดำเนินงานของผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 3-5 ดาว ประเภทอาหาร ของจังหวัดชลบุรี
ชื่อผู้เขียน: คันธรส รองรัตนพันธุ์
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา:
วิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้ประชาชนทุกระดับประสบปัญหาต่าง ๆ มากมายและปัญหาหนึ่งที่ประชาชนระดับรากหญ้าซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศถูกรุมเร้า คือปัญหาความยากจน ดังนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จึงได้ประกาศสงครามกับความยากจนโดยแถลงต่อรัฐสภา โดยการนำโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาสินค้า โดยพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่และบริการจัดการเพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยระบบร้านค้าหรือเครือข่ายและอินเตอร์เน็ต เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการพัฒนาท้องถิ่นสร้างชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งตนเองได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ด้วยการนำทรัพยากร ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณค่ามีจุดเด่น และมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้กำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. 2544 ประกาศ ณ วันที่ 7 กันยายน 2544 ขึ้น โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทอย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” เป็นส่วนหนึ่ง ของนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนแต่ละชุมชนได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้ในการพัฒนาสินค้าโดยภาครัฐพร้อมจะเข้าช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่ และการบริหารจัดการเพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ด้วยระบบร้านค้าและอินเตอร์เน็ตและเพื่อส่งเสริมสนับสนุน กระบวนการพัฒนาท้องถิ่น สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ ให้มีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างรายได้ ด้วยการนำทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นและมีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น การศึกษาการดำเนินงานของผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 3-5 ดาว ประเภทอาหาร ของจังหวัดชลบุรี ครั้งนี้ กำหนดวัตถุประสงค์ในการศึกษา ดังนี้
1. เพื่อศึกษาการดำเนินงานของผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ประเภทอาหาร ระดับ 3-5 ดาว ของจังหวัดชลบุรี
2. เพื่อศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ประเภทอาหาร ระดับ 3-5 ดาว ของจังหวัดชลบุรี
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา: คือ แนวคำถามที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์
เชิงลึกจากประธานกลุ่มหรือตัวแทนกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย จำนวน 12 คน แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในเชิงพรรณนาด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ซึ่งผลการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้
สรุปผลการศึกษา:
การดำเนินงานของผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ประเภทอาหาร ระดับ 3-5 ดาว ของจังหวัดชลบุรี
1. ด้านการบริหารจัดการ พบว่า กลุ่มยังไม่มีความรู้เพียงพอในด้านการบริหารจัดการ แต่กลุ่มเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการและพยายามเรียนรู้เพื่อปรับใช้กับกลุ่ม ทั้งนี้ผู้นำกลุ่มมีการบริหารงานหรือขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มเพียงคนเดียวหรือเพียงกลุ่มๆ เดียวทั้งนี้เนื่องจากผู้นำมีบทบาทหรือมีภาวะผู้นำสูง สมาชิกกลุ่มเป็นเพียงในนาม ทั้งนี้การเป็นสมาชิกกลุ่มเพียงในนาม ส่งผลถึงระดมหุ้นของกลุ่ม หรือมีผลต่อรูปแบบการดำเนินงานในรูปของกลุ่ม จึงทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐให้การสนับสนุนการดำเนินงานน้อย
2. ด้านการตลาด พบว่า กลุ่มส่วนใหญ่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เฉพาะชุมชน หรือบริเวณอำเภอใกล้เคียง มีบ้างที่ผลิตเพื่อจำหน่ายต่างจังหวัด ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มไม่มีงบประมาณในการลงทุน เป็นเพราะการบริหารงานของผู้นำเพียงคนเดียวหรือเฉพาะกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว และการเป็นสมาชิกของกลุ่มส่วนมากเป็นเพียงในนามถึงทำให้การระดมหุ่นต่างๆ เพื่อการลงทุนมีน้อย ทำให้รูปแบบของการดำเนินงานเป็นกลุ่มไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ส่งผลให้การสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ จากภาครัฐมีน้อย
3. ด้านการพัฒนาการผลิต พบว่ากลุ่มยังคงยึดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตสินค้า แต่ได้มีการประยุกต์เพื่อให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่บ้างเพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ตัวผลิตภัณฑ์บ้าง ส่วนวัตถุดิบในการผลิตมีปัญหาพอประมาณ ทั้งนี้ส่วนใหญ่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบนอกชุมชนเนื่องจากผู้ผลิตคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลให้ราคาของผลิตภัณฑ์สูงด้วย
ข้อเสนอแนะ:
การดำเนินงานของผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 3-5 ดาว ประเภทอาหาร ของจังหวัดชลบุรี ผู้ศึกษาจึงมีข้อเสนอแนะดังนี้
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย:
1. จากข้อค้นพบที่ว่า ผู้ผลิตผู้ประกอบการยังขาดเงินทุนในการผลิต ทั้งนี้ เงินทุนของกลุ่มส่วนใหญ่มาจากการระดมหุ้นของสมาชิก นั้น มีข้อเสนอแนะดังนี้ ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนากลุ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด และภาครัฐควรมีการประเมินปัญหาและความต้องการด้านต่างๆ ของกลุ่มที่แท้จริง เพื่อใช้ในการแก้ไข หรือสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง
2. จากข้อค้นพบที่ว่า กลุ่มได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานซ้ำ ๆ มีข้อเสนอแนะดังนี้ ภาครัฐควรบูรณาการการดำเนินงานในการสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่ม และควรมีการช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องไม่ใช่สนับสนุนเฉพาะช่วงที่มีงบประมาณ ทำให้กลุ่มไม่มีความมั่นใจในการดำเนินงานของภาครัฐ
3. จากข้อค้นพบด้านการประชาสัมพันธ์ ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากแนวคิดของกลุ่มเองต้องพึ่งพาภาครัฐเป็นส่วนใหญ่นั้น ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะ คือภาครัฐต้องเพิ่มเติมความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์ ช่องทางการประชาสัมพันธ์ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการตลาด การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ และการศึกษาความต้องการของตลาด หากกลุ่มประสบความสำเร็จด้านการประชาสัมพันธ์จะส่งผลถึงรายได้ของกลุ่มเป็นสำคัญ
ข้อเสนอเชิงปฏิบัติการ:
1. จากข้อค้นพบที่ว่าผู้ประกอบการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เองและส่วนใหญ่จำหน่ายในชุมชน นั้น ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะดังนี้ ผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนการด้านการตลาด เพื่อเป็นรูปแบบแนวทางในการดำเนินงาน และส่งผลต่อการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคารออมสิน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
2. จากข้อค้นพบที่ว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการไม่มีการศึกษา/วิจัยความต้องการของตลาดและลูกค้า นั้น ผู้ศึกษาเห็นว่าผู้ประกอบการควรมีการประเมินความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้สามารถส่งผลถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น
3. จากข้อค้นพบที่ว่าสมาชิกกลุ่มให้ความไว้วางใจแก่ผู้นำกลุ่มในการพัฒนาศักยภาพของกลุ่ม นั้น ผู้ศึกษาเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำกลุ่มหรือผู้ประกอบการต้องมีจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ คงไว้ซึ่งความภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่บรรพบุรุษสั่งสมมา และคงไว้ซึ่งคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ:
1. ควรมีการประเมินศักยภาพของกลุ่ม ที่มองแล้วว่าสามารถจะพัฒนาให้เป็นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมได้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ โดยที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะต้องจัดหาวิทยากรผู้มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้านของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปในเชิงอุตสาหกรรม และเชิงธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น
2. ภาครัฐควรศึกษาและประเมินกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จและหรือเลิกกิจการไป ว่ามีสาเหตุหรือมีข้อจำกัดอะไรที่กลุ่มไม่สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มได้ต่อไป ซึ่งการประเมินดังกล่าวอาจจะนำมาพัฒนาหรือเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาแก่กลุ่มต่างๆ ที่อาจมีสถานการณ์ใกล้เคียงกัน
ใส่ความเห็น
Comments 0