รัฐทุ่ม 200ล.บูม “โอท็อป” ครบวงจรฯ

รัฐทุ่ม200ล.บูม”โอท็อป”ครบวงจร เตรียมผุดศูนย์กระจายสินค้าชู”จตุจักร-ภูเก็ต”ต้นแบบ

 

             กรมการพัฒนาชุมชนสนองนโยบายรัฐ ทุ่ม 200 ล้านบาท ผุดศูนย์กระจายสินค้าโอท็อปครบวงจร ประเดิมแห่งแรกที่จตุจักร-ภูเก็ต ทั้งจำหน่าย กระจายสินค้า จัดอีเวนต์ จัดคอร์สติวเข้มผู้ประกอบการ คาดแล้วเสร็จปลายปีนี้ เล็งของบฯเพิ่ม 550 ล้านบาท กระจายอีก 7 แห่งในภูมิภาค เชื่อมโยงการตลาด ท่องเที่ยว และการส่งออก ดึง ททท.ช่วยอีกแรงหวังดึงลูกค้าทั้งไทย-ต่างชาติ


นายสุรชัย ขันอาสา อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า เพื่อสนองตอบกับนโยบายเร่งด่วนของภาครัฐ ข้อ 1.13.2 ที่ระบุ “ให้มีศูนย์กระจายสินค้าและแสดงสินค้าถาวรในภูมิภาคและเมืองท่องเที่ยวที่เชื่อมกับการท่องเที่ยวและการส่งออก” กรมพัฒนาชุมชนจึงเตรียมสร้างศูนย์กระจายสินค้าสูตร 2+7 คือ ในเมืองท่องเที่ยว 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและภูเก็ต และในภูมิภาค 7 แห่ง
สำหรับศูนย์กระจายสินค้าเมืองท่องเที่ยวใน กทม.และภูเก็ต กรมได้เตรียมงบประมาณ 200 ล้านบาท สำหรับ การเช่าพื้นที่ และจ้างที่ปรึกษาเข้ามาบริหารจัดการทั้งหมด
ใน กทม. ศูนย์กระจายสินค้าโอท็อปแห่งแรกจะอยู่ที่จตุจักร ขณะนี้อยู่ระหว่างมองหาทำเลที่เหมาะสม ในขณะที่การดำเนินการใน จ.ภูเก็ตก็อยู่ระหว่างหาพื้นที่เช่นเดียวกัน คาดว่าเดือนตุลาคมนี้จะมีแผนปฏิบัติการชัดเจน จากนั้นจะเริ่มดำเนินการ โดยศูนย์กระจายสินค้า จตุจักรจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2554
“เรามองว่าจตุจักรเป็นแหล่งค้าขายระดับโลก การเดินทางไปมาสะดวก มี นักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ตรงนี้จะเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยระบายสินค้าได้”
ส่วนอีก 7 แห่งที่จะกระจายทั่วประเทศนั้น อยู่ระหว่างของบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 550 ล้านบาท โดยจะเน้นไปที่จังหวัดเศรษฐกิจที่สามารถทำให้สินค้ากระจายตัวได้ดี เช่น เป็นแหล่งซื้อขาย แหล่งท่องเที่ยว หรืออยู่ติดบริเวณชายแดน เป็นต้น
ดร.อัจฉราวรรณ มณีขัติย์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนเชี่ยวชาญ สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์แสดงสินค้าโอท็อปจะต้องมีรูปแบบเชื่อมโยงกับตลาด แหล่งท่องเที่ยว และการส่งออก โดยศูนย์จะมีการปรับปรุงในเรื่องของระบบสารสนเทศ การสต๊อกสินค้า มีการจัดทำแผ่นพับโบรชัวร์ เว็บไซต์เผยแพร่ โดยจะร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมสินค้า จะมีการจัดระบบโลจิสติกส์เพื่อให้ชาวบ้านสะดวกในการขนส่งสินค้าเข้ามาจำหน่าย จัดกิจกรรมส่งเสริม อบรมผู้ประกอบการโอท็อปในเรื่องของการบริหารจัดการ ฯลฯ
สำหรับสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายจะเป็นระดับ 3 ถึง 5 ดาว และพรีเมี่ยมจากทั่วประเทศที่จะสลับกันมาออกร้าน นอกจากนี้ ทางกรมจะจัดจ้างพนักงานดูแลโดยไม่ใช้ข้าราชการประจำเข้าดำเนินการ
รายละเอียดของศูนย์กระจายสินค้าแต่ละแห่งจะประกอบด้วย สถานที่จัดจำหน่ายสินค้า บูทจำหน่ายสินค้า สำนักงาน สถานที่สต๊อกสินค้า ระบบโลจิสติกส์ พื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมการอบรม ดูงาน มีห้องเจรจาการค้า พื้นที่จัดกิจกรรมอีเวนต์ต่าง ๆ สถานที่จำหน่ายสินค้าโอท็อปชวนชิม ฯลฯ คาดว่าศูนย์แสดงสินค้าจะทำให้ผู้ประกอบการโอท็อปมีรายได้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของรายได้เดิม หรือเพิ่มขึ้นราว 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เดิม
ดร.อัจฉราวรรณกล่าวต่อว่า การสร้างศูนย์กระจายสินค้าเป็นการแก้ปัญหาให้ตลาดสินค้าโอท็อปสามารถกระจายได้ตลอดปี แทนที่จะกระจายเฉพาะในงานโอท็อปปีละ 2 หนช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญคือ ผู้ประกอบการโอท็อปรายเล็กไม่มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้ามาจัดแสดง ตนจึงมองว่าในระยะแรก หากภาครัฐสามารถที่จะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องระบบการขนส่งให้ฟรีก็จะช่วยแก้ปัญหาได้มาก
ในส่วนของศูนย์แสดงสินค้าโอท็อป กว่า 400 แห่งที่กระจายอยู่ตามจังหวัด ต่าง ๆ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 177 แห่งนั้น กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้แต่ละจังหวัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับภาคเอกชน สภาหอการค้า และเครือข่ายผู้ประกอบการโอท็อปให้ช่วยกันเข้ามาพื้นฟู แนวนโยบายคือจะเน้นให้ศูนย์แต่ละศูนย์มีส่วนของการเรียนรู้ เป็นศูนย์อนุรักษ์สินค้าโอท็อป ฝึกอาชีพของคนในชุมชนด้วย รวมทั้งการนำสินค้าของจังหวัดอื่น ๆ มาจำหน่ายร่วมด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 24 กันยายน 2554

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: