เครื่องสีข้าวกล้องด้วยมือ
ผลิต เครื่องสีมือข้าวกล้อง แบบฉบับชาวบ้าน-ราคาถูก
ปัจจุบันกระแสคนรักษ์สุขภาพกำลังมาแรง ผู้คนในสังคมเมืองหันบริโภคข้าวปลอดสารกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ชนบท
ด้วยเหตุนี้ บุญกอง สุวรรณเพชร วัย 57 ปี และ อนนท์ งิ้วลาย วัย 52 ปี เกษตรกรบ้านโนนยาง หมู่ 17 ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร จึงร่วมกันประดิษฐ์ “เครื่องสีมือข้าวกล้อง” ตามแบบฉบับภูมิปัญญาชาวบ้านขึ้นเพื่อให้ตัวเองได้บริโภคข้าวกล้องเอง แถมยังจำหน่ายตามท้องตลาดอีกด้วย
อนนท์ เล่าว่า 3 ปีก่อน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโนนยาง ซึ่งมีนายบุญกอง เป็นประธานกลุ่ม และมีตนเป็นกรรมการ ได้ไปศึกษาดูงานด้านพันธุกรรมพืชที่ จ.สุรินทร์ ไปเห็นเครื่องสีมือข้าวกล้องที่ไม่ได้ผลิตขาย จึงมีแนวคิดที่จะนำมาผลิตเพื่อสีข้าวกล้องไว้บริโภคและจำหน่ายด้วย
หลังกลับจากดูงานก็ได้ร่วมกันทดลองทำเครื่องสีมือ โดยใช้ไม้กระบกเป็นวัตถุดิบหลัก ใช้เวลาทำไม่ถึง 1 สัปดาห์ ก็ได้เครื่องสีมือชิ้นแรก เพราะมีส่วนประกอบไม่มาก จากนั้นจึงนำมาทดลองสีข้าวกล้อง ก็พบว่าเมล็ดข้าวไม่แตกหรือหักมากเกินไป
ส่วนประกอบของเครื่องสีมือข้าวกล้องนั้น ประกอบด้วยไม้กระบก 2 ท่อน คือ ท่อนบน และท่อนล่าง เพื่อทำการบดหรือสีข้าว ยางรถยนต์สำหรับรองเมล็ดข้าว สังกะสี นอต และไม้ยาว 2 เมตรเป็นคันโยก ต้นทุนการผลิตเครื่องสีมือเพียง 600 บาท ส่วนราคาขายอยู่ที่ชุดละ 2,000-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด หากเป็นชุดใหญ่สุด ตัวฐานด้านล่างของเครื่องสีมือมีความสูง 50 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 50 ซม. ราคา 3,000 บาท ขนาดกลางเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 ซม. ราคา 2,500 บาท และรุ่นเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 35 ซม. ราคา 2,000 บาท โดยรุ่นที่ขายดีมากที่สุดคือ ขนาดกลาง
“ได้มีการทดลองเอาดินโคลน หรือดินเหนียว ผสมกับปูนและทรายมาทำด้วย แต่ปรากฏว่าสีข้าวไปนานๆ ฟันจะสึกง่ายและซ่อมไม่ได้ อีกทั้งได้นำเอาไม้สะแบงมาทดลองดู ก็พบว่าเนื้อไม้เวลาแห้งจะไม่มีน้ำหนัก และไม่มีความทนทาน สุดท้ายจึงเลือกใช้ไม้กระบกเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งเป็นไม้ที่พอมีอยู่ใท้องถิ่น”โดยไม้กระบก 1 ต้น ราคาต้นละ 1,000 บาทเศษ จะทำเครื่องสีมือข้าวกล้องได้ 10 ชุด โดยแต่ละชุดจะใช้แรงงาน 2 คน ใช้ระยะเวลาทำ 2-3 วัน
จากที่กลุ่มได้นำเอาข้าวกล้องอินทรีย์ไปจำหน่ายที่เมืองทองธานี เมื่อเดือนกันยายน 2551 รวมทั้งนำเครื่องสีมือข้าวกล้องไปสาธิตด้วยนั้น ทำให้ขณะนี้มียอดจองเครื่องสีมือหลายสิบชุด ซึ่งกลุ่มไม่ได้เน้นผลิตเชิงพาณิชย์ แต่อยากจะถ่ายทอดภูมิปัญญาเพื่อให้กลุ่มต่างๆ นำไปต่อยอดและผลิตใช้เอง
ด้านบุญกองเสริมว่า เครื่องสีมือนี้จะใช้ไม้กระบก น้ำหนักควรอยู่ที่ท่อนละ 40 กิโลกรัม รวม 2 ท่อนจะมีน้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม ส่วนไม้คันโยกความยาวไม่เกิน 2 เมตร หลักการสีข้าวจะใช้แรงคนในการขับเคลื่อนโยกไม้ให้หมุนรอบ โดยเมล็ดข้าวเปลือกที่เทลงไปในช่องก็จะไหลลงสู่ด้านล่าง จะถูกเนื้อไม้กะเทาะเปลือกจนหลุด ทั้งนี้ ข้าว 1 กระสอบ จะได้ข้าวที่ผ่านการกะเทาะเปลือกราว 80% ส่วนอีก 20% จะยังมีกากข้าวปะปนอยู่ จากนั้นนำมาฝัดเพื่อเลือกเฉพาะที่ผ่านการกะเทาะเปลือกเท่านั้น
“สีข้าวด้วยแรงคนใน 1 ชั่วโมง จะสีข้าวได้ 2 กระสอบ ส่วนอายุการใช้งานของเครื่องสีมือข้าวกล้องพบว่า หากสีข้าวสารได้ 1 ตัน ฟันของเครื่องสีจะสึก แต่สามารถซ่อมด้วยการทำร่องลึกใหม่และใช้งานได้เช่นเดิม”บุญกอง บอกว่า แม้ขณะนี้ในหมู่บ้านจะมีโรงสีข้าวกล้องที่ภาครัฐสนับสนุน โดยคิดอัตราค่าสีข้าวกล้อง 1 บาทต่อกิโลกรัม แต่ชาวบ้านก็ไม่นิยม ยังคงใช้เครื่องสีมือ เพราะนอกจากจะได้รับประทานข้าวกล้องคุณภาพแล้ว ยังได้ออกกำลังกายอีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 28 เมษายน 2552
ใส่ความเห็น
Comments 0