การพัฒนาบรรจุภัณฑ์
การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์
ปัญหาสำคัญของผลิตภัณฑ์จาก OTOP ที่ควรเร่งแก้ไขอีกประการหนึ่งคือ รูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ยังไม่ได้มาตรฐานและไม่โดดเด่นพอที่จะดึงดูดความสนใจของลูกค้า/ผู้บริโภคได้ ซึ่งบรรจุภัณฑ์นับเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค และภาคธุรกิจเริ่มหันมาให้ความสนใจกับรูปแบบบรรจุภัณฑ์มากขึ้นโดยมองว่าการออกแบบ/รูปแบบบรรจุภัณฑ์มีผลต่อยอดขายอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งแรกที่ผู้บริโภคได้เห็นและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ/ไม่ซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ กสอ. ยังได้เสนอข้อคิดเห็นว่าบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงอีกมากเพื่อสร้างความน่าสนใจในตัวสินค้าและสามารถสร้างผลสำเร็จได้ในอนาคต เนื่องจากบรรจุภัณฑ์มีบทบาทสำคัญหลายประการ เช่น การรองรับและลดความเสียหายแก่ผลิตภัณฑ์ การช่วยเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ทำให้ยอดจำหน่ายสูงขึ้น ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องมีรูปแบบที่ดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ มีฉลากบอกรายละเอียดครบถ้วน เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ วัน/เดือน/ปีที่ผลิตและหมดอายุ สถานที่ผลิต เป็นต้น
ดังนั้น ความสำคัญของบรรจุภัณฑ์จึงไม่อาจละเลยได้ ภาครัฐได้จัดตั้งหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของภาครัฐและเอกชนในการปรับปรุงและรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ อาทิ ส่วนบรรจุภัณฑ์ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กสอ. ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ กรมส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น ส่วนบรรจุภัณฑ์ กสอ. ให้บริการคำแนะนำและปรึกษาด้านบรรจุภัณฑ์แก่ผู้ผลิต และให้บริการออกแบบฉลากผลิตภัณฑ์และรูปแบบของผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ สำหรับศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ซึ่งเป็นศูนย์การบรรจุหีบห่อแห่งชาติได้กำหนดแผนการสร้างคุณภาพบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ OTOP ให้ได้รับการยอมรับในตลาดสากลตามแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ก้าวสู่ตลาดโลกให้มากที่สุดโดยการพัฒนาในทุกๆ ด้านทั้งคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตในชุมชนตลอดจนการส่งออกของประเทศ โดยศูนย์การบรรจุหีบห่อไทยตั้งเป้าหมาย 1 ปีแรกจะมีผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 40 ประเภทที่ได้รับการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ระดับสากลโดยเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและหัตถกรรมในช่วงแรก รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าหากมีการพัฒนาสินค้าจากโครงการ OTOP อย่างสมบูรณ์ในด้านคุณภาพ รูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ทันสมัย คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าขายได้กว่า 1 แสนล้านบาท/ปี ในอนาคตได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ กสอ. ยังได้ริเริ่มโครงการบรรจุภัณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยให้ผู้ผลิตสินค้า OTOP มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและต้นทุนต่ำอีกด้วย
ใส่ความเห็น
Comments 0