การดำเนินการด้านอื่นๆ


การจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ OTOP ในระยะแรกเน้นการจำหน่ายภายในประเทศโดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนเท่านั้น  โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP อย่างต่อเนื่องตามที่กล่าวมาแล้วในช่วงแรก  มีการนำผลิตภัณฑ์ OTOP  มาจัดแสดงและคัดเลือกกลุ่มผู้ผลิตที่มีศักยภาพเข้าร่วมงาน  เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ    รวมทั้งการขยายช่องทางการจำหน่ายและกระจายสินค้าในประเทศ  อาทิ  การร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดหาสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP  โดยล่าสุด  กอ.นตผ. ได้ลงนามร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมการตลาด  และผู้บริหารห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 14 ราย  รวม 383 ร้านสาขา  เพื่อวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์  OTOP  โดยจะแบ่งออกตามระดับผลิตภัณฑ์  ได้แก่  ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่หาซื้อได้ง่าย  ราคาไม่แพง  เหมาะสำหรับซื้อหาเป็นของฝาก  จะวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ  สถานีบริการน้ำมัน    ส่วนผลิตภัณฑ์ระดับสูงขึ้นมาที่สามารถพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ระดับประเทศได้จะวางจำหน่ายในซูเปอร์สโตร์ชั้นนำ   ส่วนผลิตภัณฑ์พรีเมียมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้  เช่น  ผ้าไหมทอมือ  หรืองานหัตถกรรมที่มีราคาค่อนข้างสูงจะวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า    การจัดตั้ง Outlet สำหรับป้อนผลิตภัณฑ์ OTOP เข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ  โดยในประเทศจะจัดเป็น 4 ลักษณะ  คือ  ขนาดใหญ่แบบ Plaza  จะจัดตั้งในจังหวัดใหญ่ได้แก่  เชียงใหม่  ภูเก็ต  ขอนแก่น  หนองคาย  กรุงเทพ  ชลบุรี  ขนาดกลาง  จัดตั้งตามสถานที่ท่องเที่ยว 4 แห่ง  ได้แก่  จตุจักร  เกาะสมุย  วัดพระแก้ว และไทยแลนด์เอ๊กซ์ปอร์ตมาร์ท   ส่วนขนาดเล็ก  จัดตั้งตามห้างขนาดเล็กและสถานีบริการน้ำมันในลักษณะ OTOP Corner  เป็นต้น  การจัดงาน  ภูมิปัญญาไทยสู่สากล  หนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์”  เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2546  โดยมีเป้าหมายคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชั้นดีที่ได้รับการพัฒนาทั้งคุณภาพและบรรจุภัณฑ์นำเข้าสู่ช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ  การจัดงาน สุดยอดหมู่บ้านอุตสาหกรรมและผ้าทอไทย  เมื่อ 25 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม  2546  เป็นต้น

 

ผลจากการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตประกอบกับมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี   ตลอดจนได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างประเทศ เช่น องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JETRO)  ซึ่งได้เข้ามาดูแลและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP  อย่างต่อเนื่องและได้ทำการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ OTOP หลายรายการให้เหมาะสมกับการใช้งานและตรงกับความต้องการในตลาดญี่ปุ่น    ทำให้ปัจจุบันมีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ออกไปญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น   โดยข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศที่ระบุไว้เมื่อต้นปีพบว่าผลิตภัณฑ์ OTOP  ได้ทยอยออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศกว่า 700 รายการ  ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค  เครื่องประดับ  ของใช้ในบ้าน   เป็นต้น  ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ได้รับความสนใจในตลาดต่างประเทศ  อาทิ  ผ้าทอและผลิตภัณฑ์  เช่น  ผ้าพันคอ  เสื้อผ้าสำเร็จรูป  ผลิตภัณฑ์จักสานจากเส้นใยพืชและจากผ้าทอผสมเส้นใยพืช  เช่น  ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่  ผักตบชวา  ย่านลิเภา  ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผา  ดอกไม้ประดิษฐ์   ผลิตภัณฑ์จากไม้   เช่น  เครื่องใช้บนโต๊ะทำจากไม้ตาล  ผลิตภัณฑ์จากไม้เนื้อหอม  ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา  กระดาษสับปะรด    เป็นต้น

 

ทั้งนี้  กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า  แผนการส่งออกผลิตภัณฑ์ OTOP ของกระทรวงพาณิชย์จะมีการกำหนดตลาดเป้าหมายอย่างชัดเจนเป็นรายประเทศ  โดยจะพิจารณาว่าตลาดประเทศนั้นนิยมสินค้าประเภทใด  รูปแบบและบรรจุภัณฑ์อย่างไร  เพื่อจะได้ดำเนินการส่งออกให้สอดคล้องกับตลาด   และภาครัฐได้ทำการส่งเสริมด้านการตลาดต่างประเทศและขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP หลากหลายขึ้น   อาทิ  การจัดตั้งบริษัท SME TRADE PROMOTION (STP)  หรือ  บริษัท  ส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด  โดย สสว.  เมื่อเดือนธันวาคม 2545  เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการอำนวยความสะดวกแก่ผลิตภัณฑ์ OTOP  เพื่อการส่งออก    การจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ   เพื่อสนับสนุนด้านการดำเนินการด้านต่างประเทศและการส่งออก  เช่น  งานแสดงสินค้า  Fukuoka  Gift  Show  2003  ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11-14 กันยายน 2546  งานแสดงสินค้า  Asia Expo 2004  ณ กรุงลอนดอน  ประเทศอังกฤษ  ระหว่าง 7-10 กุมภาพันธ์ 2547  การนำผลิตภัณฑ์จำหน่ายบนเครื่องบินของการบินไทยและมีแผนที่จะขยายไปสู่สายการบินพันธมิตรอื่น   การจัดตั้งโชว์รูมผลิตภัณฑ์ OTOP ในต่างประเทศ  โดยความร่วมมือของ กสอ.  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)   และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  ภายในปีหน้า  โดยมีโครงการนำร่อง ณ สำนักงาน ททท. เมืองฟูกูโอกะ  ประเทศญี่ปุ่น เป็นแห่งแรก  ซึ่งแสดงผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทเครื่องจักสานไม้ไผ่และผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติเป็นผลิตภัณฑ์หลัก  เป็นต้น   และในการประชุมเอเปกที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ นี้จะมีการนำผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ได้รับเลือกให้เป็นสุดยอด OTOP จากโครงการ OPC  มาจัดแสดงในงานประชุมครั้งนี้ด้วยเพื่อเป็นแนวทางในการขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศต่อไป   ซึ่งรัฐบาลคาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า  ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ได้รับรางวัลรวมถึงที่ผ่านการคัดสรรแล้วจะสามารถนำออกไปจำหน่ายตามร้านค้า  ห้างสรรพสินค้า และภัตตาคารทั่วโลกโดยเฉพาะร้านอาหารไทยได้

 

อย่างไรก็ตาม   การส่งออกผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้น  ต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษาตลาดผลิตภัณฑ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด แต่คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทยในอนาคตน่าจะมีลู่ทางที่แจ่มใสไม่แพ้สินค้าส่งออกประเภทอื่นๆ  หากได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมในแต่ละด้านอย่างสอดคล้องกับภาวะการค้าโลกในยุคปัจจุบัน   และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง   ตลอดจนแก้ไขอุปสรรคปัญหาที่มีผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ OTOP  อาทิ การผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ   การพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์  รวมถึงการจัดการระบบข้อมูลข่าวสารอันจะเป็นประโยชน์ต่อการตลาดต่างประเทศ  เป็นต้น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: