โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

 โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน : พัฒนามาตรฐานและคุณภาพ OTOP

 

มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)  เป็นโครงการหนึ่งที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  จัดทำขึ้นเพื่อรองรับมาตรฐานและการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP  ผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ    รวมถึงผลิตภัณฑ์ระดับพื้นบ้านที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม   เสมือนเป็นการรับประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค  เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศ    ซึ่ง มผช. จะแตกต่างจาก มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม)  โดย มผช. จะมีข้อกำหนดที่เหมาะสมกับการผลิตของแต่ละท้องถิ่นโดยการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น  ซึ่ง มอก. จะเกี่ยวข้องกับการผลิตโดยไม่คำนึงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นเท่าใดนักและเป็นการผลิตโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้นเสมอไป     โครงการ มผช. มีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อ  19 มีนาคม 2546   ระยะเวลาโครงการ 5 ปี  (2546-2550) วงเงิน 112 ล้านบาท  โดยกำหนดไว้ว่าภายใน 5 ปีจะต้องออกมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ให้ได้ 1,200 ผลิตภัณฑ์

 

แนวทางการดำเนินงานตามโครงการมี 4 ด้าน   ได้แก่   การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน  ด้วยการจัดทำข้อกำหนดที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ชุมชนและวิธีการผลิตของชุมชน  โดยคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (กมช.)  จะพิจารณาจากผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบัญชีของ กอ.นตผ.  ใน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์  ได้แก่  กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและสิ่งทอ  กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานและเส้นใยพืช   กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร   กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา   และกลุ่มผลิตภัณฑ์ศิลปประดิษฐ์และหัตถกรรม   และในการกำหนด มผช. นั้น  สมอ. จะพิจารณาโดยใช้ข้อมูลจากผู้ผลิตชุมชน  ผู้บริโภค และนักวิชาการทั่วประเทศ   การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน   เป็นการให้การรับรองด้วยการมอบเครื่องหมายแสดงมาตรฐานแก่ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องหมาย มผช.   เป็นรูปมือประสานกัน  ซึ่งหมายถึง  การใช้มือในการผลิตของชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันและจะทำการตรวจติดตามผลอย่างต่อเนื่อง   การพัฒนาผู้ผลิตในชุมชน   โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้คำปรึกษาแนะนำ ณ สถานที่ผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต  เตรียมพร้อมที่จะขอใบรับรอง     และการส่งเสริมประชาสัมพันธ์   ด้วยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ    เพื่อรองรับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัยและส่งเสริมให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อผลิตภัณฑ์ OTOP   และเชื่อว่าหากผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรอง มผช. จาก สมอ. แล้วจะทำให้สามารถขยายตลาดมากขึ้นและสร้างรายได้และความแข็งแกร่งแก่วิสาหกิจชุมชน  โดยผู้ที่จะยื่นคำขอการรับรอง มผช. ต้องเป็นผู้ผลิตในโครงการ OTOP ที่ผ่านการคัดเลือกจาก กอ.นตผ. แล้วหรือเป็นกลุ่ม/สมาชิกของกลุ่มเกษตรกร  สหกรณ์  หรือกลุ่มอื่นๆ ตามกฎหมายวิสาหกิจชุมชน  เช่น  กลุ่มอาชีพก้าวหน้า  กลุ่มธรรมชาติ เป็นต้น    และจะได้รับการรับรองต่อเมื่อได้ผ่านการตรวจประเมินและได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ มผช. แล้ว   ใบรับรองดังกล่าวมีอายุ 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ระบุในใบรับรอง   และจะมีการติดตาม/ประเมินผลโดยการสุ่มตัวอย่างมาตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  และ สมอ. สามารถยกเลิกใบรับรองได้หากตรวจและติดตามผลแล้วพบว่าไม่เป็นไปตาม มผช. 2 ครั้งติดต่อกัน

 

ในปี 2546  สมอ.  ตั้งเป้าหมายที่จะประกาศ มผช. ให้ได้ประมาณ 200 ผลิตภัณฑ์  และมีผู้ผลิตได้รับการรับรอง 240 ราย  ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับ มผช. แล้ว  50  ผลิตภัณฑ์  (ณ  22 กรกฎาคม 2546)  จาก 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้น    จำนวนผู้ผลิตที่ได้รับการรับรอง 143 ราย  โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและสมุนไพรได้รับการรับรองมากที่สุดรวม 121 ราย  ซึ่งในจำนวนนี้ผลิตภัณฑ์ไวน์ผลไม้มีผู้ได้รับการรับรองมากที่สุดจำนวน 35 ราย   ทั้งนี้ สมอ. คาดว่าโครงการ มผช.  จะช่วยยกระดับด้านคุณภาพและการตลาดของผลิตภัณฑ์ OTOP  อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจชุมชนให้แข็งแกร่งขึ้น   และในอนาคต สมอ. มีแผนที่จะพัฒนาและยกระดับ มผช. ให้เป็น มอก. ที่ทั่วโลกยอมรับ  เพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีมาตรฐานเดียวกันกับมาตรฐานอุตสาหกรรมอื่นและสามารถส่งออกได้มากขึ้น  เนื่องจากผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า   นอกจากนี้ กสอ. และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมกันผลักดันให้มีการจดทะเบียนการค้าสำหรับผลิตภัณฑ์ OTOP  เพื่อบ่งบอกถึงคุณภาพและคุณค่าของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ป้องกันการลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์     และเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้มากขึ้น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: