การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อการส่งออก
โครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” (One Tambon One Product : OTOP) เป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองภายใต้นโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนของประเทศด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าของรัฐบาล โดยเน้นพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจในชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนให้มีรายได้เป็นของตนเอง สามารถพึ่งตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการกำหนดให้แต่ละชุมชนหรือตำบลหนึ่งๆ มีผลิตภัณฑ์หลักอย่างน้อย 1 ประเภท ซึ่งได้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น/ทรัพยากรในท้องถิ่นมาปรับใช้ในการผลิตและพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของแต่ละชุมชน รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยว ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของชุมชน แล้วแต่ว่าชุม-ชนใดจะมีวัตถุดิบในด้านใดเป็นหลัก และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์พร้อมทั้งเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาร่วมกันทั้งระบบระหว่างวิสาหกิจชุมชนหรือท้องถิ่น ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในเดือนมิถุนายน 2546 ทุกจังหวัดจะต้องมีการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้เกิดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ โดยโครงการ OTOP มีเป้าหมายให้ประชาชนในชุมชน/ท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท/คน/ปี และให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 60 สามารถสร้างความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ภายในปี 2549
โครงการ OTOP ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2544 มาถึงปัจจุบัน สินค้าจากโครงการสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนในระดับที่น่าพอใจ ชุมชนต่างๆ สามารถผลิตสินค้าได้หลายประเภท อาทิ ผลิตภัณฑ์กลุ่มผลิตผลทางการเกษตร อาหาร หัตถกรรมและเครื่องจักสาน สมุนไพรและแชมพู เป็นต้น ปัจจุบันสินค้าจากโครงการ OTOP ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากไม่เพียงแต่ตลาดภายในประเทศเท่านั้น ขณะนี้ตลาดต่างประเทศบางแห่งได้ให้ความสนใจในสินค้า OTOP ของไทยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะญี่ปุ่น เนื่องจากผลิตภัณฑ์จาก OTOP ของไทยมีความสวยงาม มีเอกลักษณ์ แปลกใหม่ จึงสามารถดึงดูดความสนใจจากตลาดต่างประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็ว รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของสินค้าจากโครงการ OTOP จึงได้ออกนโยบายและแผนงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้สินค้าจากโครงการ OTOP ได้มีโอกาสขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศให้มากขึ้น เป็นการใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบของประเทศอย่างคุ้มค่า และเพิ่มแนวทางในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศ รวมถึงการช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในระยะยาว ล่าสุด หลังจากที่ ครม. ได้ผ่านความเห็นชอบการจัดทำแผนแม่บทหรือแผนส่งเสริม SMEs ปี 2547-2549 แล้ว ขณะนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์หลักเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติการ SMEs ซึ่งถือเป็นแผนปฏิบัติการ SMEs ฉบับแรกของไทย โดย 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการแก้ไขปัญหาความยากจนและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ซึ่งกำหนดให้มีผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดสากลไม่ต่ำกว่า 1 พันรายการภายในปี 2549 และมีการสร้างศูนย์การตลาดและกระจายสินค้าของชุมชนสู่ตลาดในประเทศไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง และตลาดต่างประเทศอีกไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง และแนวทางการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อการส่งออก จึงเชื่อว่าจะมีส่วนร่วมในการเพิ่มพูนรายได้จากการส่งออกของประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้สรุปผลการดำเนินโครงการ OTOP ในระยะที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2544-2545 ดังนี้ การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ มีผลิตภัณฑ์ดีเด่นตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการอำนวยการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) จำนวน 7,753 ผลิตภัณฑ์ จาก7,255 ตำบลทั่วประเทศ เป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับจังหวัดรวม 925 ผลิตภัณฑ์ หรือร้อยละ 11.9 ของผลิตภัณฑ์ OTOP ดีเด่น ผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับชาติ 461 ผลิตภัณฑ์ หรือร้อยละ 5.9 ของผลิตภัณฑ์ OTOP ดีเด่น การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ในโครงการ OTOP ได้รับมาตรฐาน 3,654 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย มาตรฐานฮาลาล มาตรฐาน อย. และมาตรฐานอื่นๆ เช่น ลิขสิทธิ์ทางปัญญา เครื่องหมายรับรองสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เกียรติบัตรต่างๆ เป็นจำนวน 30 ผลิตภัณฑ์ 1,722 ผลิตภัณฑ์ และเกือบ 2,000 ผลิตภัณฑ์ ตามลำดับ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.1 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด การส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้าและการตลาด นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการจนถึง ณ เดือนตุลาคม 2545 การจัดหาสถานที่จำหน่ายได้ 17,630 แห่ง อาทิ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ร้านค้าชุมชน ร้านค้าทั่วไป ศูนย์สาธิตการตลาด การจัดทำข้อมูลหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ thaitambon.com รวมเป็นผลิตภัณฑ์จำนวน 16,797 รายการ จาก 5,054 ตำบล โดยเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทหัตถกรรมมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ประเภทอาหาร โดยคิดเป็นร้อยละ 59.2 และ 2.06 ของผลิตภัณฑ์รวมทุกประเภท ตามลำดับ และสามารถดำเนินการทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Commerce ได้จำนวน 1,181 ผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการตลาด มีการจัดทำโครงการแสดงและจำหน่ายสินค้าทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น งานแสดงสินค้า Made in Thailand 2001 งานมหกรรมหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ งานสุดยอดหมู่บ้านอุตสาหกรมและผ้าทอไทย ฯลฯ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการด้านต่างๆ ในการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ตามแผนแม่บทที่ กอ.นตผ. กำหนดไว้อย่างสอดคล้องกันในหลายๆ ด้าน ทำให้ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม 2544 ที่มีจำนวน 215.55 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1.90 หมื่นล้านบาท ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2545
นับจากที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ OTOP ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ในประเทศช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม 2544 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2545 เพิ่มขึ้นสูงถึง 90 เท่า โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2546 จะผลักดันผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท และกรมการพัฒนาชุมชน รายงานว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2545-มิถุนายน 2546) ผลิตภัณฑ์ OTOP มียอดขายรวม 2.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 115 ของประมาณการในปีงบประมาณ 2546 (2 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าจะสามารถทำได้ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท จากจำนวนยอดจำหน่ายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ OTOP ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ซื้อ ทำให้ภาครัฐมีแนวคิดที่จะขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศเพื่อเพิ่มจำนวนการผลิตและมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เห็นได้จากการที่ภาครัฐได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศภายใน 5 ปี โดยปี 2546 มีงบประมาณในการผลักดันถึง 800 ล้านบาท และในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า รัฐบาลได้คาดหมายให้ผลิตภัณฑ์ OTOP พัฒนามาตรฐานสู่ระดับสากลและเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มรายได้และความแข็งแกร่งแก่ชุมชน ตลอดจนเพิ่มรายได้และ GDP ของประเทศให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์และแผนดำเนินงานโครงการ OTOP ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แผนดำเนินงานของโครงการ OTOP ในปี 2546-2547 ของ กอ.นตผ. จะมีการดำเนินงาน 2 ยุทธศาสตร์พร้อมกัน คือ ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างศักยภาพและคุณภาพของการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์และยุทธศาสตร์สนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเชื่อมต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ในปี 2546 จะมุ่งเน้นการทำกิจกรรมการตลาดเป็นหลัก ส่วนในปี 2547 จะให้ความสำคัญกับการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนารูปแบบการเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมช่วง 5 ปี (2545-2549) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์หนึ่งคือการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน โดยพัฒนาการตลาดด้วยการสร้างโอกาสและช่องทางการตลาดทั้งระดับท้องถิ่นภายในและต่างประเทศ พร้อมทั้งการสนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด กรมการค้าต่างประเทศ ได้เร่งสนับสนุนผลิตภัณฑ์ OTOP ออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น โดยขณะนี้กำลังศึกษาและจัดหมวดผลิตภัณฑ์พร้อมกับจำแนกให้เห็นถึงผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จากประเทศคู่ค้า และประกาศให้ผู้ผลิตทราบเพื่อให้ผู้ผลิตเข้ามาขอใบรับรองเพื่อใช้สิทธิในการส่งออกภายใต้ GSP ไปประเทศต่างๆ เนื่องจากมีผู้ส่งออกมาขอใช้สิทธิน้อยมาก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังเขตการค้าเสรีอาเซียนภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากัน (CEPT) ที่จะได้รับส่วนลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีนำเข้า ซึ่งทุกประเทศในอาเซียนให้สิทธิพิเศษภายใต้ CEPT อัตรา 0-5% ยกเว้นส่งออกไปยังประเทศสมาชิกใหม่ เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมี้ยนมาร์ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ขอสิทธิส่งออกภายใต้ CEPT อาทิ ผ้าไหมพื้นเมือง ผ้าทอพื้นเมือง ผ้าสำเร็จรูป และสิ่งประดิษฐ์จากผ้า และล่าสุดญี่ปุ่นได้ปรับปรุงการให้สิทธิ GSP ในปีงบประมาณ 2546 (1 เมษายน 2546 -31 มีนาคม 2547) ด้วยการเพิ่มรายการสินค้าที่ให้สิทธิ GSP กับประเทศด้อยพัฒนาและพัฒนาน้อยจำนวน 198 รายการ ประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 119 รายการ โดยประเทศไทยจะได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวในฐานะประเทศกำลังพัฒนา จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการที่จะเร่งส่งเสริมการส่งออกแก่ผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ OTOP ยังมีปัญหาหลายด้านที่ควรเร่งแก้ไขก่อนที่จะเร่งขยายตลาดเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาที่กลายเป็นอุปสรรคที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์บางประเภทยังไม่ได้มาตรฐาน มีการผลิตที่ซ้ำ/เลียนแบบกัน นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ยังมีความเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับ OTOP ขณะนี้ คือ รูปแบบบรรจุภัณฑ์ยังไม่ได้มาตรฐานและไม่โดดเด่นพอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ จึงจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นได้ และสามารถพัฒนาสู่การผลิตเพื่อส่งออกได้ในอนาคต ภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นเพื่อโอกาสในการส่งออกที่สดใสต่อไป ที่สำคัญสรุปได้คือ การจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
ใส่ความเห็น
Comments 0