ภารกิจของธุรกิจชุมชน


ธุรกิจชุมชนทำอะไร?

 

การอยู่คาบเกี่ยวระหว่างการทำธุรกิจเพื่อหากำไรกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ร่วมทำธุรกิจ หากเน้นการทำธุรกิจมากเกินไปอาจละเลยการพัฒนาคน แต่ถ้าเน้นพัฒนาคนมากเกินไปธุรกิจอาจอยู่ไม่ได้ ทำให้การบริหารธุรกิจชุมชนยากกว่าธุรกิจเอกชนมาก และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าธุรกิจธรรมดา ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานราชการทั้งกรมพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร ให้การสนับสนุนในฐานะกลุ่มอาชีพและเริ่มเน้นให้กลุ่มเหล่านั้นทำกิจการเชิงธุรกิจตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา และมีองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการทำธุรกิจของกลุ่มที่เคยทำงานพัฒนาร่วมกันอย่างใกล้ชิด จึงมีกลุ่มธุรกิจชุมชนจำนวนมากเกิดขึ้นและพัฒนาเครือข่ายความสัมพันธ์ในหมู่ธุรกิจชุมชนประเภทเดียวกัน เช่น เครือข่ายหัตถกรรม เครือข่ายโรงสีข้าว เป็นต้น รวมทั้งขยายกิจการหลากหลายขึ้น

 

จากเดิมที่ธุรกิจชุมชนมักเป็นกิจการการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร แปรรูปเกษตร หรือหัตถกรรม ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวบ้านทำมาแต่เดิม แต่มีการปรับปรุงผลผลิตและเน้นการจัดจำหน่ายมากขึ้น เช่น โรงสีข้าว ทอผ้า แปรรูปสมุนไพร เป็นต้น ก็ได้เริ่มมีกิจการบริการ เช่น ร้านค้าส่ง กิจการคลังสินค้า ปั๊มน้ำมัน(บางจาก, ปิโตรเลียม) เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจการที่กลุ่มชาวบ้านต้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับธุรกิจเอกชนในฐานะคู่ธุรกิจหรือผู้ร่วมลงทุน ตลอดจนกิจการอุตสาหกรรมในลักษณะการร่วมทุนหรือรับเหมาช่วงการผลิตจากธุรกิจอุตสาหกรรมเอกชน เช่น กลุ่มตัดเย็บเสื้อยืด กลุ่มเย็บรองเท้า เป็นต้น เพิ่มขึ้นมาด้วย

 

การที่กลุ่มชาวบ้านจะดำเนินธุรกิจประเภทใดมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป จากตัวอย่างในกรณีศึกษากลุ่มธุรกิจชุมชนต่างๆ แสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มทำธุรกิจการผลิตและจำหน่ายจำนวนมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นการผลิตที่ใช้ทักษะพื้นฐานที่ชาวบ้านมีอยู่เดิมเป็นและต้นทุนการผลิตไม่สูงมากนัก แต่มักมีปัญหาด้านตลาดเพราะการผลิตเกินความต้องการของตลาด มีคู่แข่งจำนวนมาก ทั้งธุรกิจเอกชนหรือกลุ่มชาวบ้านในที่อื่น ส่วนธุรกิจบริการมีโอกาสทำกำไรได้มาก แต่ต้องลงทุนสูงมาก วัตถุดิบอยู่นอกชุมชน การทำสัญญาทางธุรกิจกับธุรกิจเอกชนมีเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การบริหารจัดการที่ซับซ้อนและความไม่เท่าทันต่อคู่สัญญาทำให้มีโอกาสเสียเปรียบและขาดทุนได้มาก ทำให้กลุ่มชาวบ้านที่สามารถบริหารจัดการธุรกิจประเภทนี้มีน้อย สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมต้องอาศัยการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นพี่เลี้ยงธุรกิจอุตสาหกรรมเอกชนที่เป็นคู่สัญญา และหน่วยงานราชการที่ให้การสนับสนุน พร้อมกับการปรับวิธีการทำงานของชาวบ้านให้สอดคล้องกับระบบโรงงานมากขึ้นด้วย นับเป็นธุรกิจประเภทหลังสุดที่กลุ่มชาวบ้านได้ดำเนินการ และมีจำนวนจำกัดจากการทำธุรกิจชุมชนโดยความร่วมมือกับธุรกิจเอกชนหลายปี เริ่มมีการตั้งคำถามถึงประโยชน์แท้จริงที่ธุรกิจชุมชนได้รับจากการการร่วมทุนกับธุรกิจเอกชนหรือกลายเป็นเพียงช่องทางขยายตลาด/กลุ่มแรงงานให้ธุรกิจเอกชนเท่านั้น

 

การพัฒนามากขึ้นของธุรกิจชุมชน ทำให้รูปแบบของกิจการธุรกิจชุมชนเปลี่ยนแปลงไปด้วย ปัจจุบันมีรูปแบบธุรกิจชุมชนอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ และกลุ่มที่เป็นทางการ โดยกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ ไม่จดทะเบียนและไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายใดโดยเฉพาะ แต่เป็นการดำเนินงานที่ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและสังคม เช่น กลุ่มพัฒนาอาชีพต่างๆ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่เป็นทางการ จะดำเนินงานภายใต้กรอบของกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง เช่น กลุ่มเกษตรกรทำนาระดับตำบล ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร บริษัทธุรกิจชุมชนที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินงานในรูปแบบบริษัทแต่มีชาวบ้านเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ รูปแบบคล้ายกับบริษัทมหาชน เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือพัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของแต่ละธุรกิจชุมชนตามสภาพเงื่อนไขของตน

 

กลุ่มธุรกิจชุมชนจำนวนมากขาดการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งและการดำเนินงาน ดังมีข้อสังเกตว่าธุรกิจชุมชนมักเริ่มต้นที่ชุมชนสามารถผลิตสินค้าอะไรได้แล้วจึงไปโน้มน้าวให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าที่ชุมชนผลิตจึงทำให้การดำเนินงานทางด้านการตลาดค่อนข้างยาก  จึงเสนอให้ใช้กรอบการศึกษาที่พิจารณาทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก จุดแข็งที่มี จุดอ่อนที่เห็น โอกาสทางการตลาด อุปสรรคขัดขวางที่คาดการณ์ได้ โดยใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าจะทำ(กิจการหรือการผลิต)อะไรดี จะทำอย่างไร ทำแล้วจะนำไปขายให้ใครหรือเพียงทำขึ้นมาบริโภคกันเองในชุมชน ทั้งนี้ อาจใช้วิธีนี้ควบคู่กับการแลกเปลี่ยนดูงานเพื่อศึกษาประสบการณ์ของคนอื่นๆ อันเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปในหมู่องค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้าน จะทำให้สรุปความเป็นไปได้ใกล้เคียงความจริงและเกิดความมั่นใจในการจัดตั้งและดำเนินงานที่สำคัญ กลุ่มควรเลือกทำธุรกิจจากความพร้อมด้านต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น ทักษะฝีมือ/ความถนัดของสมาชิก วัตถุดิบหาง่ายในท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อเป็นจุดได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ และมีโอกาสทำกำไรตามเจตนารมย์ของกลุ่ม

 

ปัญหาเร่งด่วนในขณะนี้คือ เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ธุรกิจชุมชนหลายกลุ่มรวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นพี่เลี้ยง ไม่สามารถปรับกระบวนทัศน์หรือวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ทำให้ประสบภาวะขาดทุนหรือธุรกิจเริ่มชะงัก แม้แต่เครือข่ายธุรกิจทอผ้าซึ่งเคยมีความเข้มแข็งมากในช่วงก่อนวิกฤตก็กลับอยู่ในภาวะตีบตัน มีผ้าล้นสต็อกมากมาย (การสัมมนาสรุปบทเรียนธุรกิจชุมชนภาคอีสาน, 2543) โอกาสอยู่รอดได้ของกิจการธุรกิจชุมชนที่เริ่มใหม่จึงต้องเตรียมพร้อมอย่างมากด้านการตลาด ซึ่งต้องเริ่มจากการปรับกระบวนทัศน์หรือวิธีคิดของทั้งกลุ่มชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสนับสนุนให้มุ่งสู่การทำธุรกิจอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจมีจำนวนจำกัด และระดับความสามารถแตกต่างหลากหลาย รวมถึงตัวเจ้าหน้าที่ด้วย จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจในประเด็นนี้และยอมรับว่าในบางชุมชนอาจต้องได้รับการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นแทน อย่าลืมว่า การส่งเสริมให้กลุ่มชาวบ้านทำธุรกิจแล้วขาดทุนจะเป็นการทำลายศักยภาพชุมชนอย่างน่าเสียดายและฟื้นฟูกลับคืนได้ยากยิ่ง

 

เมื่อกลุ่มธุรกิจชุมชนประสบความสำเร็จ ทำกำไรอย่างต่อเนื่องหลายปี บางกลุ่มพบว่า กิจการธุรกิจชุมชนและกำไรไม่ใช่ “เป้าหมาย” แต่เป็น “เครื่องมือ” ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน กล่าวคือโรงสีข้าวชุมชนในจังหวัดยโสธรสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้เพิ่มแก่สมาชิกราว 3 พันบาท/ครัวเรือน/ปี และสร้างงานในชุมชนราว 50 ราย/ปี แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ช่วยให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชนหรือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น กลุ่มจึงได้ริเริ่มการใช้กิจการโรงสีข้าวในการปรับวิถีการผลิตของชาวนาจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวนา และความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมของชุมชนในระยะยาว โดยอาศัยการทำงานแบบเครือข่ายที่ประกอบด้วยโรงสี 3 แห่งและกลุ่มรวบรวมข้าวเปลือก 20 กว่ากลุ่ม (การสัมมนาสรุปบทเรียนธุรกิจชุมชนภาคอีสาน, 2543) นับเป็นตัวอย่างสำคัญในการพัฒนาธุรกิจชุมชน ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรได้เรียนรู้และร่วมกันสร้างแนวทางการพัฒนาชุมชนด้วยกลุ่มธุรกิจชุมชนอื่นๆ ต่อไป

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: