ใยกล้วยมหัศจรรย์
คุณบรรยง นันทโรจนาพร อดีตนักธุรกิจใหญ่ที่เคยโลดแล่นในภาคธุรกิจของจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ค้นพบสัจธรรมของชีวิตหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2540 จำต้องยุติบทบาทของนักบริหารลง แต่เขาโชคดีที่มีผืนแผ่นดินอีก 300 ไร่ ที่ซื้อเก็บเอาไว้ตั้งแต่ปี 2522 เป็นที่ชุบชีวิตใหม่ให้กับเขา และตัดสินใจเข้ามาอยู่ในบ้านสวนเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ซึ่งตั้งอยู่ที่ 51 หมู่ 5 ต.ชะเมา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และพลิกฟื้นผืนดินด้วยความรู้ทางด้านการเกษตรบวกกับสมองของนักบริหารเอาชนะธรรมชาติได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
“ก่อนหน้าที่ซื้อดินผืนนี้ไม่เคยทราบมาก่อนว่า มันจะเป็นพื้นที่น้ำท่วมในช่วงหน้าน้ำชาวบ้านไม่เชื่อว่าตรงนี้จะปลูกพืชอะไรได้ แต่ผมก็ทำให้ชาวบ้านเห็นแล้วว่าผมทำได้”ในสวนเกษตรนครอินทร์คงได้เห็นพรรณไม้นานาชนิด ทั้งสวนมะนาวไร้เมล็ด แหล่งเพาะเห็ดโคนธรรมชาติ บ่อปลานานาพันธุ์ ที่สำคัญกุหลาบพันปีที่เคยเชื่อว่าเติบโตได้ในภูมิอากาศที่หนาวเย็นเท่านั้น แต่เขาสามารถเพาะพันธุ์และปลูกได้ในนครศรีธรรมราชซึ่งมีอากาศร้อนได้นอกจากนี้ยังทดลองปลูกอินทผลัมและพืชอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิด
นับตั้งแต่เขาเข้าไปอยู่ในสวนได้ใช้วิชาความรู้ทั้งในด้านการเกษตร ด้านการบริหาร และบทเรียนชีวิตของตนช่วยเหลือชุมชน จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นประธานประชาคมหมู่บ้านหมู่ที่ 5 ต.ชะเมา และเพราะบทบาทนี้เขาจึงตระหนักถึง การสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน ครั้งแรกที่เขาเห็นต้นกล้วยจมน้ำตายและเน่าเสียกลายเป็นมลภาวะกับหนองน้ำ จึงคิดหาประโยชน์จากต้นกล้วยโดยไม่ปล่อยให้มันสูญเปล่าอีกต่อไป
“ฟองน้ำใยกล้วยเป็นสินค้าที่กำลังได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดี เป็นสินค้าดาวเด่นที่ชาวต่างชาติต้องการมาก เนื่องจากว่าวิถีชีวิตของชาวต่างชาติตระหนักถึงความเป็นธรรมชาติ อะไรที่ทำจากธรรมชาติจะได้รับการตอบรับอย่างดี”
คัดแยกด้วยมือคน ซักล้างเส้นใย ต้มต้นกล้วยก่อนนำไปปั่น ตากให้แห้ง
จากภูมิปัญญาของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ใช้เชือกกล้วยผูกมัดสิ่งของเครื่องใช้ เป็นตัวจุดประกายให้เขามองเห็นถึงความเหนียวของเส้นใยกล้วย ครั้งแรกของการทดลองทำผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วย เขาทดลองทำกระดาษจากใยกล้วย แต่ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาด ต่อมาก็พัฒนามาเป็น sponge (ฟองน้ำ) จากใยกล้วย เมื่อฟองน้ำประสบความสำเร็จก็จะพัฒนาไปสู่การทำเสื้อผ้าใยกล้วย (คล้ายเสื้อใยกันชงของทางภาคเหนือ) พัฒนาการสูงสุดของใยกล้วยที่เขาตั้งเป้าไว้ คือ เสื้อเกราะกันกระสุนและเสื้นใยกล้วยคล้ายเสื้อเส้นใยสับปะรดของประเทศฟิลิปปินส์ ขณะนี้กำลังทำการวิจัยและทดลองร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (สวท.) กำลังรอผลในอนาคตอันใกล้นี้ หากประสบความสำเร็จเชื่อว่าคนในชุมชนอำเภอปากพนังจะหน้าชื่นได้จากการปลูกต้นกล้วย
นอกจากนี้เขาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ออกแบบโรงงาน ที่ได้มาตรฐานการส่งออกตามของ สสวช. เพราะเอเยนต์จากต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เนื่องจากสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติจะไม่มีไม้เป็นส่วนประกอบเลย ต้องประกอบด้วยอลูมิเนียม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ออกแบบแบบให้เปล่า แต่การลงทุนเป็นของ หสน.พฤกษาทิพย์ ซึ่งเขาจดทะเบียนเพื่อให้ หสน.ทำหน้าที่เป็นผู้จำหน่ายและทำการตลาดของสินค้าตรา Centella ทุกตัว อันประกอบด้วย สบู่ผลิตจากสารสกัดจากพญายอ ขมิ้นสด ใบบัวบก, แชมพูปลูกผมมีส่วนผสมของโฮร์โมนที่สกัดจากผลไม้และสมุนไพร และน้ำมันต่อต้านเชื้อราที่ผลิตจากสารสกัดจากเปลือกมะนาว เป็นต้น ส่วนการผลิตเป็นไปในรูปกลุ่มสมาชิก
“ฟองน้ำใยกล้วยเป็นสินค้าที่กำลังได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดี เป็นสินค้าดาวเด่นที่ชาวต่างชาติต้องการมาก เนื่องจากว่าวิถีชีวิตของชาวต่างชาติตระหนักถึงความเป็นธรรมชาติ อะไรที่ทำจากธรรมชาติจะได้รับการตอบรับอย่างดี นอกจากนี้เราไม่มีคู่แข่ง จุดเด่นของฟองน้ำใยกล้วยคือ ในขั้นตอนการผลิตเราแช่ใยกล้วยในน้ำส้มสายชู 5% เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราแม้จะวางฟองน้ำไว้ในที่อับชื้น เพราะฉะนั้นฟองน้ำใยกล้วยจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานเกือบครึ่งปี เมื่อเทียบกับฟองน้ำที่ทำจากวัตถุดิบชนิดอื่น ที่เป็นเชื้อราก่อนทั้งที่ใช้ไปได้ไม่นาน ใยกล้วยเมื่อโดนน้ำจะนุ่ม หนืดขัดเซลล์ที่ตายแล้วออกได้อย่างหมดจดด้วย”
ในแง่ของการผลิต ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใยกล้วยมีสมาชิกที่อยู่ในหมู่ 5 กว่า 165 คน ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงธุรกิจกันในด้านจำหน่ายต้นกล้วยให้กับเขาในราคากิโลกรัมละ 15 บาท (เส้นใย 1 ก.ก.ได้ฟองน้ำ 1 ชิ้นครึ่ง) นอกจากนี้ยังรับทำแพ็จเก็จจิ้งและรับคัดแยกเส้นใยกล้วย ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการคัด เพราะเส้นใยกล้วยเมื่อดึงออกมาแล้วจะคล้ายเส้นไหม สีเหลืองทองสวยงาม มีความเหนียวทน ส่วนนี้เป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน หากมีคำสั่งซื้อของพ่อค้าเข้ามาจำนวนมากก็จะเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นเงาตามตัว ปัจจุบันเขาต้องผลิตให้ได้มากกว่า 1,000 ชิ้นต่อวัน เพื่อให้เพียงพอกับใบสั่งซื้อจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้ออย่าง 7eleven ที่มีความต้องการถึง 200,000 ชิ้น
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ ฟองน้ำใยกล้วยเป็นสินค้าแฮนด์เมด ไม่ใช้เครื่องจักรกล ซึ่งเขาตั้งใจดำรงการผลิตแบบนี้ไว้ เพราะส่วนหนึ่งตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ และที่สำคัญคือเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน คาดว่าจะขยายงานไปสู่หมู่บ้านและตำบลอื่นในอำเภอปากพนัง และ ฟองน้ำใยกล้วยเป็นสินค้าที่จดสิทธิบัตรไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้ตรายี่ห้อว่า Centella (เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของใบบัวบก) และกำลังจะเป็นสินค้าส่งออกรายแรกในเร็วๆ นี้
ใส่ความเห็น
Comments 0