โรงงานแป้งขนมจีนจังหวัดนครศรีฯ
ตำบลกะหรอ กิ่งอำเภอนบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ที่นี่มีบริษัทแห่งหนึ่งที่ไม่เหมือนกับบริษัททั่ว ๆ ไป เพราะเป็นบริษัทของชุมชน ที่จัดตั้งถือหุ้นดำเนินการ โดยชุมชนอย่างแท้จริง เป็นบริษัทผลิตแป้งขนมจีน ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านอย่างหนึ่งของคนใต้ ออกส่งจำหน่ายไปหลายจังหวัด บริษัทนี้มีชื่อว่า “บริษัทเครือข่ายผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” ตั้งอยู่ที่ 276 หมู่ 5 ต.กะหรอ กิ่งอำเภอนบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเราได้นัดหมายไว้กับ วิโรจน์ คงปัญญา ผู้นำชุมชนและผู้จัดการบริษัทฯ
ก่อนจะมาเป็นโรงงานแป้งขนมจีน
คุณวิโรจน์ เล่าถึงความเป็นมาของบริษัทให้ฟังว่า เกิดขึ้นจากเวทีประชุมของผู้นำชุมชนในภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลาเมื่อปลายปี 2535 จากการประสานงานของสถาบันพัฒนาชนบท มูลนิธิหมู่บ้าน โดยที่ประชุมได้เสนอแนวคิดค้นหารูปแบบ เพื่อการสร้างงานให้ชุมชนในรูปแบบธุรกิจชุมชน เพื่อให้เกิดแนวร่วมในการพัฒนาเครือข่ายร่วมกันในอนาคต หลังจากนั้นได้มีการไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับธุรกิจชุมชนที่ภาคอีสานหลายจังหวัดรวมทั้งโรงแป้งขนมจีนของ บริษัท พ.ศ.ช.ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นที่ผลิตแป้งสำหรับทำเส้นขนมจีนจำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตเส้นขนมจีนในภาคอีสาน หลังจากกลับจากการศึกษาดูงานแล้วก็กลับมาคิดกันว่าจะทำอะไรที่สามารถต่อยอดอาชีพของคนบ้านเราซึ่งเป็นเกษตรกรได้ เมื่อมาเห็นว่าบ้านเรากินขนมจีนกันมากรวมทั้งในจังหวัดภาคใต้อื่นๆด้วย ดังเช่นที่ประยงค์ รณรงค์ ประธานบริษัท และผู้นำกลุ่มไม้เรียงเคยพูดเกี่ยวกับการบริโภคขนมจีนของคนใต้ไว้ว่า “เฉพาะในนครศรีธรรมราชเพียงจังหวัดเดียว ก็มีปริมาณบริโภคเส้นขนมจีนในแต่ละวันเท่ากับคนอีสานทั้งภาคเลยทีเดียว” จึงเกิดความคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงในการที่จะนำธุรกิจตัวนี้มาทำในภาคใต้ จากนั้นก็ได้มีการประชุมพูดคุยกันหลายครั้งจนได้ข้อสรุปร่วมกันในการที่จะจัดตั้งโรงงานแป้งขนมจีนเป็นธุรกิจของชุมชน อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ ภูมิปัญญา และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างแท้จริงได้ในที่สุด
ในช่วงแรกตั้งใจไว้ว่าจะลงทุนเพียงล้านกว่าบาท ซึ่งต้องใช้วิธีการระดมทุนจากสมาชิกและกลุ่มองค์กรชุมชนที่สนใจ แต่กว่าจะทำได้นั้นต้องใช้วิธีการต่าง ๆ หลายวิธีและใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน (เริ่มคิดเมื่อ 2535 เริ่มเปิดดำเนินการได้ประมาณกลางปี 2539) คุณวิโรจน์บอกว่า “ต้องประชุมกันแทบนับไม่ถ้วน คือไม่ว่าจะไปชุมเรื่องอะไรเวทีไหน จะต้องเอาเรื่องนี้ไปแทรกด้วยทุกครั้ง ต่อมาคิดกันว่าทำเป็นโครงการเย็บเป็นเล่ม ไปพูดไหนแจกนั่น เราแจกเพื่อต้องการเรียกหุ้น เมื่อเรียกหุ้นได้แล้วพบว่ายอดจองเกือบ ๓ ล้านบาท” อันแสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องของผู้นำจนสามารถระดมหุ้นได้จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อได้เริ่มดำเนินการสร้างโรงงานจริงทุนที่ทางกลุ่มคิดว่ามากแล้วก็ไม่เพียงพอ เพราะต้องใช้ทุนจริงถึง 5 ล้านบาท ทางกลุ่มจึงได้ใช้วิธีการกู้ธนาคารและระดมหุ้นเพิ่มเติมจนสามารถเปิดดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบในที่สุด โดยมีผู้หุ้น 100 กว่าคนเป็นผู้นำและสมาชิกของชุมชน และยังดึงเอาองค์กรชุมชนมาร่วมหุ้นด้วยอีก 5 องค์กร ซึ่งแต่ละองค์กรมีสมาชิกอยู่จำนวนมาก รวมแล้วสมาชิกที่ได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมตรงนี้ ไม่ต่ำกว่า 7000 กว่าคนเลยทีเดียว
สูตรแป้งขนมจีนจากภูมิปัญญา
คุณวิโรจน์ เล่าต่อว่าในการทำแป้งขนมจีนของโรงงานในช่วงแรกนั้นจะใช้แป้งหมักตามสูตรของภาคอีสานตามที่ได้ศึกษาดูงานมา แต่ก็เกิดปัญหาขึ้น เมื่อแป้งขนมจีนมีกลิ่นจากการหมัก เป็นผลให้ตลาดในท้องถิ่นไม่ยอมรับ จึงต้องไปศึกษาสูตรของท้องถิ่น จากหลายแหล่ง เช่น ที่ในตัวเมืองนครฯ ปากพนัง ทุ่งสง สิชล สุราษฎร์ เป็นต้น จนได้สูตรที่เหมาะกับความต้องการของตลาดท้องถิ่น คือใช้วิธีการแช่แป้งแล้วบด ขณะที่ในอีสานใช้วิธีการหมัก ตะวันออกใช้วิธีการบ่มเช่นเดียวกับภาคกลางซึ่งนับเป็นการเรียนรู้วิธีการผลิตแป้งขนมจีนจากภูมิ ปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสม ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แล้วนำมาดัดแปลงประยุกต์ให้เหมาะสมกับ การทำแบบอุตสาหกรรมได้อย่างผสมกลมกลืน
แป้งขนมจีนที่นี่ทำกันอย่างไร
ในการผลิตแป้งขนมจีนนั้น คุณสร้อย ทองพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตได้ให้ความรู้ถึงกระบวนการการผลิตของโรงงานแป้งขนมจีนโดยเล่าให้เราฟังว่าโรงงานผลิตแป้งขนมจีนของที่นี่จะใช้ข้าวสารจากลุ่มน้ำปากพนังทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวปากพนังที่ขายข้าวสารได้ราคาถูก กระบวนการผลิตจะนำข้าวสารที่ได้มาแช่น้ำไว้ประมาณ 1 คืน จากนั้นก็จะนำไปเข้าเครื่องบดและร่อน ก่อนที่จะนำไปพักไว้ในบ่อพักอีก 1 คืนโดยเติมน้ำเกลือลงไปช่วยทำให้ยีสต์เพิ่มจำนวน และช่วยไม่ให้แป้งบูด สามารถเก็บไว้ได้นาน จากนั้นจึงถ่ายน้ำออกนำแป้งเข้าเครื่องอัดเพื่อบีบน้ำออกอีกครั้งหนึ่งจนได้เป็นก้อนแป้ง แล้วนำมาชั่งน้ำหนักบรรจุถุงพร้อมที่จะส่งจำหน่ายได้ โดยจะบรรจุถุงละ 20 กิโลกรัม ราคาขายหน้าโรงงานถุงละ 180 บาท ซึ่งแป้งขนมจีนที่นี่สามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 5-7 วัน โรงงานผลิตแป้งขนมจีนแห่งนี้จะผลิตแป้งขนมจีนออกจำหน่ายเฉลี่ยวันละประมาณ ๗ ตัน (กำลังการผลิตเต็มที่ประมาณ 14 ตัน) ซึ่งโรงงานแห่งนี้นอกจากจะผลิตแป้งขนมจีนส่งจำหน่ายแล้ว ยังได้ผลิตเครื่องทำเส้นขนมจีนจำหน่ายอีกด้วย
โรงงานแป้งขนมจีนแห่งนี้ เริ่มเดินเครื่องทำการผลิตเมื่อประมาณกลางปี 2539 ในปีแรกที่ดำเนินการนั้น กิจการขาดทุนเพราะยังไม่มีประสบการณ์ แต่ได้นำบทเรียนที่ได้จากประสบการณ์มาพัฒนา จนกระทั่งในปี 2540 ก็เริ่มได้กำไร ขายได้ประมาณ 4-5 ล้านบาท จากนั้นก็ได้กำไรมาตลอด โดยเดือนหนึ่ง ๆ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทำให้สามารถขายหุ้นได้เพิ่มถึง 5 ล้านบาท (50000 หุ้นๆละ 100 บาท) “ซึ่งในตอนแรกชาวบ้านไม่ค่อยเชื่อเท่าไรทำให้เราไม่สามารถระดมหุ้นได้เต็มที่ แต่ตอนนี้ถ้าถามว่าถ้าสร้างโรงงานใหม่จะมีหุ้นไม๊…เราไม่กลัวอีกแล้ว เพราะชาวบ้านเชื่อแล้ว ตอนนี้ไม่ว่าจะตั้งโรงงานอะไรเขาก็เชื่อแล้ว นี่มาจากความเชื่อมั่น แต่ถ้าคิดแบบนักธุรกิจที่หอบเงินมาลงเขาไม่คุ้ม เขาใช้เวลาสั้นคิดว่าเวลาเท่าใด ได้เท่าใด ดอกเบี้ยเท่าไร คุ้มไม่คุ้ม แต่ถ้าคิดแบบทำเอาวิชาความรู้ เอาประสบการณ์ทำเชิงวิจัยที่จะเรียนรู้ตรงนี้มันมีค่ามหาศาล เพราะเราได้รู้ เราเชื่อว่าถ้านายทุนหอบเงินมาลงสัก 10 ล้านมาลง แล้วเรามีเงินทำสัก 10 ล้านมาแข่งขันกันถ้าล้มเชื่อว่าของเขาล้มก่อน เพราะไม่มีกระบวนการเรียนรู้ ของเราเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทั้งข้อดี ข้อเสีย จุดอ่อน จุดแข็ง เรียนรู้มาหมด” คุณวิโรจน์บอกเราด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงความภาคภูมิใจในความสำเร็จ อย่างไรก็ตามในช่วงที่เริ่มก่อตั้งโรงงานนั้นได้มีบททดสอบผู้นำชุมชนที่สำคัญ นั่นคือมีบริษัทยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่งมาขอซื้อกิจการโรงงาน โดยจะให้ราคาถึง 20 ล้านบาท ในขณะที่โรงงานมีทุนก่อตั้งเริ่มแรกเพียงแค่ ๓ ล้านบาทเท่านั้น โดยทางบริษัทยักษ์ใหญ่ขอซื้อตัวผู้นำและพนักงานระดับนำไปด้วยพร้อมทั้งเสนอเงื่อนไขค่าตอบแทนให้อย่างที่พอใจ แต่คุณวิโรจน์บอกว่า “ผู้นำ-คณะกรรมการของเราไม่ต้องการเพราะเสียศักดิ์ศรี ถ้าเรายอมเพราะเห็นแก่เงินก็จะทำให้เป็นการทำลายขบวนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไปในทันที” การเกิดขึ้นของโรงขนมจีน นอกจากทำให้ชุมชนมีงานทำและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนจากธุรกิจชุมชนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบคือ “ข้าวสาร”ของลุ่มน้ำปากพนังที่มีราคาต่ำให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาล (ดูรายละเอียดในกรอบ) ซึ่งหากชุมชนต่าง ๆ เริ่มคิดถึงการเพิ่มมูลค่าวัถุดิบหรือทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบเช่นนี้แล้วก็จะสามารถพัฒนาชุมชนไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแน่นอน
จาก “ข้าวสาร” สู่ “เส้นขนมจีน” มูลค่าเพิ่มจากชุมชน
ข้าวสาร 100 กิโลกรัม ราคาขณะนี้ 780 บาท (กิโลกรัมละ 7.80 บาท) สามารถผลิตแป้งขนมจีนได้ประมาณ 135 กิโลกรัม ราคาขายแป้งหน้าโรงงานกิโลกรัมละ ๙ บาท นำไปทำเส้นขนมจีนได้ประมาณ 235 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 10 บาท
จะเห็นได้ว่ามูลค่าเพิ่มจากข้าวสาร 100 กิโลกรัม ราคา 780 บาท มาผลิตเป็นแป้งขนมจีนได้ถึง 135 กก. 1215 บาท (135 กก. x 9 บาท) ได้กำไรส่วนต่างจากข้าวสารถึง 435 บาท และเมื่อนำแป้งไปผลิตเป็นเส้นขนมจีนจะได้น้ำหนัก 235 กิโลกรัม มูลค่า 2350 บาท (135 กก. x 9 บาท) กำไรส่วนต่างจากข้าวสารถึง 1570 บาท
ถ้าวันหนึ่งผลิตได้ถึง 7 ตัน จะเป็นมูลค่าสักเท่าไหร่…
แม้ว่าบริษัทและโรงงานแป้งขนมจีนจะเดินไปได้อย่างน่าพอใจ แต่ก็ไม่หยุดนิ่งอยู่แค่นั้น ได้มีการประสานกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการวิจัยและพัฒนาต่อยอดจากโรงงานแป้งขนมจีนเพื่อเพิ่มมูลค่าและการขยายงาน ในการนำเอาแป้งมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่นทำเส้นหมี่ เพราะต่างประเทศยังต้องการอยู่มาก หรือ การนำน้ำที่เหลือจากการผลิตนำมาทำน้ำส้ม ซึ่งจะทำให้โรงงานนี้พัฒนาไปสู่การเป็นโรงงานต้นแบบที่สามารถทำผลผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังเป็นการประสานภาคีต่าง ๆ ให้มาร่วมมือกันอีกด้วย นอกจากนั้นก็ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เสมอทั้งในประเทศและชาวต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศสมาเรียนรู้และทำการศึกษาวิจัยกระบวนการของชุมชน เขาไม่ได้มาศึกษาว่ากระบวนการผลิตว่าการทำแป้งขนมจีนนั้นทำอย่างไร แต่เขาศึกษากระบวนการเกิดว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นการศึกษากระบวนการของชุมชนที่ต่างชาติให้ความสนใจ
แนวคิดการประสานเพื่อการพัฒนา
ผู้จัดการบริษัทฯได้บอกกล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนาว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรมหาศาล แต่เราขาดแว่นในการส่องดู ขาดคนที่เป็นปัญญาชนที่เป็นหัวสมองเก่ง ๆ ที่จะมาคิดค้น และที่สำคัญคือขาดการประสาน คือวิชาการเรามี ทุน(เงิน)เรามี ภูมิปัญญาเราก็มี กฎหมายเราก็มีแต่อยู่คนละแห่งกัน ทำอย่างไรให้คน 4 กลุ่มนี้มาจับมือร่วมกันแล้วรับรองว่าประเทศไทยไม่จน ที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการประสานกัน นักวิชาการก็คิดไปทางหนึ่ง ทุนก็อยู่ทางหนึ่ง ภูมิปัญญา(ชุมชน)ก็ทำกันไปทางหนึ่ง กฎหมายก็ไม่เปิดช่องให้ชุมชน หรือให้คนไทยได้ทำงานตามภูมิปัญญาของชุมชน ถ้าต่างฝ่ายต่างคิดรับรองได้ว่าไม่มีวันสำเร็จ ถ้าเราเอาภูมิปัญญามาต่อยอดกับผลิตผลของชาวบ้าน เช่น เอาข้าวน้ำนมมาบรรจุกล่อง สมุนไพร ผลไม้เพื่อสุขภาพ เป็นต้น แต่ต้องให้คนทั้ง 4 กลุ่มนี้มาประสานกัน ถ้าทำได้ หมู่บ้านละล้านก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งลงมา; เราเอาชุมชนมาเป็นทุนโดยการผลักดันทีละตัว แต่กฎหมายต้องเปิดช่องให้เรารวมได้ ให้เราทำภาคีกันได้; เช่นเดียวกับบริษัทของเรา ความหวังสูงสุดของการก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาก็ไม่ได้หวังว่าชาวบ้าน/ชุมชนจะร่ำรวยแต่ประการใด แต่มุ่งหวังเพื่อให้ชาวบ้านสามารถเลี้ยงตัวเองได้จากต้นทุน หรือทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมายในชุมชนและรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของพร้อมที่จะรักษา ดูแล และใช้มันอย่างคุ้มค่า”
สุดท้ายคุณวิโรจน์ฝากข้อคิดเห็นไว้ว่า ถ้าหากชุมชนอื่นๆ ต้องการที่จะทำธุรกิจของชุมชนในรูปแบบนี้ให้ประสบผลสำเร็จนั้น ให้คำนึงถึงปัจจัยหลัก 4 ประการ คือ
ประการที่ 1 ผู้นำต้องมีความคิด มีวิสัยทัศน์ และกำหนดยุทธศาสตร์ที่ต่อยอดกับอาชีพเดิมในชุมชนให้ได้
ประการที่ 2 ต้องคิดจากฐานของทุนชุมชนเป็นหลักไม่ใช่ทุนภายนอก ทั้งทุนทรัพยากร ทุนบุคคล และทุนทางสังคมอื่น ๆ
ประการที่ 3 ต้องมีนักวิชาการมาเป็นพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษา แต่ไม่ใช่มาสั่งการ
ประการที่ 4 สำคัญมาก คือ ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้และมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ถ้าได้อย่างนี้แล้วโอกาสประสบความสำเร็จจะมีสูง และจะเกิดความเป็นชุมชนที่เข้มแข็งตามมาไม่ใช่ชุมชนเข้มแข็งที่เป็นแค่เพียงคำพูดหรือตัวหนังสือ
ใส่ความเห็น
Comments 0