สรุปแนวคิดของวิทยากรในการสัมมนา
อาจารย์ธนภัทร ศิริจารุกุล (ขวา)
ประวัติวิทยากร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุเนตร สุวรรณละออง ท่านดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา สำหรับเหตุผลที่คณะผู้จัดสัมมนาได้เชิญ อาจารย์ธนภัทร ศิริจารุกุล มาเป็นวิทยากรนั้น เพื่อให้เหมาะสมกับหัวข้อสัมมนา “ของที่ระลึก ภูมิปัญญาไทย เพื่อคนไทย” ซึ่งทางคณะผู้จัดสัมมนาต้องการนำเสนอถึงแนวโน้มและพฤติกรรมการออกแบบและแนวโน้มของของที่ระลึกและภูมิปัญญาไทยในปัจจุบัน และอาจารย์ธนภัทร ศิริจารุกุลท่านมีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องของผลิตภัณฑ์ทั้งของที่ระลึกในรูปแบบต่างๆรวมไปถึงภูมิปัญญาไทยเป็นอย่างดี และมีความรู้ในเรื่องของความเป็นมาเป็นไปของภูมิปัญญาต่างๆอย่างลึกซึ้ง และท่านยังมีแนวความคิดและทัศนคติที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาเป็นอย่างมาก ทางคณะผู้จัดทำจึงเห็นสมควรที่จะเชิญอาจารย์มาเป็นวิทยากรในการสัมมนา
ความคิดเห็น/แนวคิดของวิทยากร
1.ในการออกแบบของที่ระลึก มีหลักการออกแบบอย่างไรบ้าง
หลักการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นมีหลายๆสิ่งที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการออกแบบ หลักๆคือ รูปร่าง รูปทรง สี โลโก้ ทั้งหมดนี้จะต้องมีความทันสมัย แปลกใหม่ และสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ และในทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบยังควรที่จะเน้นความเป็นเอกลักษณ์ ไม่ควรเน้นการค้าขายมากเกินไป เพราะจะทำให้เสียคุณค่าของที่ระลึก ดังนั้น องค์ประกอบทั้งหมดในการออกแบบของที่ระลึกนั้น จึงควรอนุรักษ์และสอดแทรกความเป็นตัวของตัวเองของสินค้าลงไปด้วย
2.ปัญหาที่สำคัญของการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาคืออะไร
จากที่อาจารย์เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โอท็อป อาจารย์เคยได้ไปพูดคุยกับชาวบ้านนั้น ได้พบปัญหาก็คือ ในชุมชนหนึ่งๆจะมีภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน แต่ละชุมชนก็จะมีสื่อกลางเพื่อนำไปขายหรือนำไปดัดแปลงอะไรก็ตามแต่ ชาวบ้านในชุมชนจะมีหน้าที่อย่างเดียวคือผลิตสินค้าออกมา แต่ในการผลิตสินค้า จะต้องมีเงินทุน ชาวบ้านไม่มีเงินทุนเลยต้องไปยืมเงินเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ในการผลิตมาก่อน พอผลิตเสร็จก็นำเงินไปคืน ทำให้ได้กำไรน้อย และมันก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนผู้ที่รับสินค้าแล้วนำไปเพิ่มมูลค่าก็คือเช่นการนำไปเพิ่มลวดลาย เพิ่มสี แต่ชาวบ้านผู้ผลิตส่งในขั้นแรกนั้นก็ยังไม่ค่อยมีอยู่ นี่คือปัญหาของการผลิตภูมิปัญญาในแต่ละชุมชนคือ ชาวบ้านที่เป็นผู้ผลิต ไม่มีเงินทุนพอที่จะไปซื้อของทำให้ต้องเป็นหนี้ และยิ่งถ้าสินค้าขายไม่ได้ ก็จะเป็นหนี้มากขึ้น
3.อาจารย์มีความคิดเห็นเกี่ยวกับโอท็อปอย่างไร
โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอท็อปนั้น มีแนวคิดมาจากประเทศญี่ปุ่น คนไทยก็นำมาพัฒนาเนื่องจากประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์มีสิ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก มีอยู่ช่วงหนึ่งที่กระแสโอท็อปมาแรงมาก ทำให้อะไรๆในพื้นที่นั้นๆกลายเป็นสินค้าโอท็อป ไม่มีความเป็นเอกลักษณ์ที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ตัวนั้นๆ ซึ่งความจริงแล้วสินค้าโอท็อปควรจะเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละชุมชนนั้นๆไปเลย แต่กลายเป็นว่าผลิตภัณฑ์บางตัวมีขายในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า สรุปแล้วผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นของที่ใดกันแน่
4.อาจารย์มองเห็นปัญหาของโอท็อปว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ในการทำโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ปัญหาที่อาจารย์มองเห็นมีเยอะอยู่พอสมควร แต่ปัญหาที่เป็นปัญหาหลักเลยก็คือ ในการผลิตสินค้า ผู้ผลิตต้องการให้สินค้าของตนมีคุณภาพดี คือโอท็อปก็มีระดับสินค้าของเขาเหมือนกัน สามดาว สี่ดาว ห้าดาว ทีนี้ในการผลิต สินค้าตัวไหนได้รับห้าดาว ก็จะมีรางวัลการันตี และก็จะมีชื่อเสียง ทำให้ชาวบ้าน ต่างก็แข่งขันกันเพื่อที่จะได้ดาว มากกว่าที่จะทำสินค้าของตนเองให้โดดเด่น เลยทำให้สูญเสียอัตลักษณ์ของสินค้าไปโดยปริยาย ที่อาจารย์เน้นเรื่องเอกลักษณ์ของสินค้าเพราะว่า เรื่องของที่ระลึกและภูมิปัญญาไทย สิ่งที่สำคัญคือเอกลักษณ์ของสินค้า แต่ละพื้นที่จะมีสิ่งที่แตกต่างกันไป และแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ดังนั้นถ้าจะผลิตสินค้าให้มีคุณภาพที่แท้จริงนั้น ไม่ควรที่จะคำนึงถึงรางวัลหรือดาวต่างๆ แต่สิ่งที่ควรนึกถึงก็คือ สินค้าที่ตนผลิต เพราะว่ามันมีคุณค่าในตัวเองของมันอยู่แล้ว
5.จากตัวอย่าง ตะกร้าหวายส็ฟ้า อยากให้อาจารย์วิเคราะห์ถึงคุณค่าผลิตภัณฑ์ค่ะ
ตะกร้าหวายสีฟ้าใบนี้ อาจารย์ต้องบอกก่อนว่า หวายมีหวายแท้ และหวายเทียม แต่จากที่อาจารย์ดูน่าจะเป็นหวายแท้แล้วนำมาพ่นสี และบุผ้าข้างใน ผลิตภัณฑ์ที่มาแต่เดิมๆนั้น ก็คือสีธรรมชาติของมัน ข้างในก็เป็นหวายเหมือนกัน ไม่ได้บุผ้าข้างใน ต้นทุนอาจจะแค่ 200-300 บาท แล้วเขาก็นำหวายดั้งเดิม ไปเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยการพ่นสีและบุผ้าข้างในเพื่อความสวยงามและน่าใช้ ถ้าเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิมกับตะกร้าหวายสีฟ้าใบนี้ พูดถึงความสวยงามก็ต้องใบสีฟ้า แต่เราซื้อตะกร้าหวาย ก็ควรจะซื้อเพราะมันเป็นหวายจริงๆมากกว่า เพราะมันสูญเสียคุณค่าและราคาแพง
ใส่ความเห็น
Comments 0